เข้าสู่ระบบเพื่อติดตามแลกเปลี่ยนข่าวสาร พบปะพูดคุยสื่อสารเฉพาะกลุ่มสมาชิกเท่านั้น
Username:
Password:
 

กระดานสนทนา

ย้อนกลับไปหน้ากระดานสนทนา
ชื่อกระทู้ กมธ. การเมือง สัมมนา “วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง”
ชื่อผู้โพส admin5
อ่าน 2463 ครั้ง
ตอบ 0 ครั้ง
กมธ. การเมือง สนช. จัดสัมมนาฯ เปิดเวทีระดมความเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมสร้างความเข้าใจ หวังนำข้อเสนอจากเวทีสัมมนาส่งไป กมธ. ยกร่างฯ เพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้เกิดความเหมาะสม หลัง “ต้นร่าง” รัฐธรรมนูญฯ ผ่านการพิจารณาให้ข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว

เมื่อวันพุธที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการและการเมือง” ขึ้น เมื่อวันพุธที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการหมายเลข ๓๐๖ – ๓๐๗ อาคารรัฐสภา ๒ โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดการสัมมนา พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญใหม่” โดยได้กล่าวแสดงความเห็นว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่จะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้อย่างถาวรนั้น ควรประกอบด้วย การบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐ มีการกำหนดกฎกติกาในการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจอย่างเหมาะสม การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มีหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการ และมีหลักนิติธรรม

จากนั้น เป็นการเปิดเวทีอภิปรายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ โดยได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องมีการปรับแก้ไข เช่น การตัดสิทธิและจำกัดสิทธิของประชาชน การแก้ไขประเด็นที่อาจเป็นชนวนที่จะนำไปสู่ภาวะวิกฤติของประเทศ ซึ่งไม่ควรนำบทเรียนที่เคยล้มเหลวในอดีตกลับมาใช้อีก และควรปรับแก้ไขในประเด็นที่อาจเป็นชนวนนำไปสู่วิกฤติรอบใหม่ เป็นต้น รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล แสดงความเห็นว่า ประเด็นใดที่เป็นหลักการที่ตกผลึกแล้ว ไม่ควรมีการแก้ไขอีกเพราะจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาได้ และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องตอบโจทย์ใน ๔ ประเด็น ได้แก่ ต้องก่อให้เกิดความปรองดอง ต้องมีกรอบของการปฏิรูปที่ชัดเจนครอบคลุมทุกด้านทุกองค์กร ต้องสานต่อสิ่งที่ตกผลึกไปแล้ว และต้องมีความต่อเนื่อง ส่วนนายสุริยะใส กตะศิลา ได้แสดงความเห็นว่า ไม่ควรนำทุกเรื่องไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด อีกทั้งไม่ต้องการเห็นการร่างรัฐธรรมนูญเป็นอุตสาหกรรม แต่ควรจะเขียนให้เป็นนวัตกรรม มิเช่นนั้นก็จะเกิดความแตกแยกซ้ำเดิม พร้อมทั้งขอให้ทบทวนการควบรวมสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดิน

เนื้อหาของการสัมมนาในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการระดมความคิดเพื่อเป็นประโยชน์ในการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยคณะกรรมาธิการฯ จะทำการรวบรวมและนำเสนอไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เอกสารแนบ

แจ้งลบกระทู้ไปยังผู้ดูแลระบบ วันที่โพส 8 มิถุนายน 2558  เวลา 15:52:51 น.   
หน้า