เข้าสู่ระบบเพื่อติดตามแลกเปลี่ยนข่าวสาร พบปะพูดคุยสื่อสารเฉพาะกลุ่มสมาชิกเท่านั้น
Username:
Password:
 

กระดานสนทนา

ย้อนกลับไปหน้ากระดานสนทนา
ชื่อกระทู้ อนุ กมธ.การจัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและรัฐวิสาหกิจฯ เดินหน้าติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม
ชื่อผู้โพส admin5
อ่าน 2464 ครั้ง
ตอบ 552 ครั้ง
ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการจัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เดินหน้าพิจารณาติดตามความคืบหน้าเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กรณีอำเภอกระต่ายมีคำสั่งให้ผู้ร้องในฐานะผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ ตำบลคุยบ้านโอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร พ้นจากตำแหน่ง และพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับผลการดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรม

เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข ๑๑๓ อาคารรัฐสภา ๒ ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการจัดระบบบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาในวาระที่น่าสนใจ อาทิ การติดตามความคืบหน้าเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กรณีอำเภอพรานกระต่ายมีคำสั่งให้ผู้ร้องในฐานะผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ ตำบลคุยบ้านโอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นควรให้ยุติเรื่อง เนื่องจากกรณีดังกล่าวอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว

จากนั้น ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของศูนย์ดำรงธรรม การพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเชิญผู้แทนปลัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมประชุม ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมาย นายบุญส่ง ไชยมณี ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาระบบการตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม สาระสำคัญเรื่องประกาศ คสช.ที่ ๙๖/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ซึ่งได้กำหนดจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมขึ้นทุกจังหวัด โดยมีการพิจารณาสาระสำคัญ ดังนี้

ด้านผลการดำเนินงานผ่านมา ศูนย์ดำรงธรรมมีเรื่องร้องทุกข์เข้ามากว่า ๑ ล้านเรื่อง ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินมาเสร็จสิ้นกว่าร้อยละ ๙๕ ส่วนเรื่องที่ค้างอยู่นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เช่น เรื่องที่ดิน ในด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ได้เพิ่มช่องทางการร้องเรียนให้แก่ประชาชน ทั้งทางโทรศัพท์สายด่วน เว็บไซต์ศูนย์ดำรงธรรม และทางแอปพลิเคชั่น (คล้ายกับแอปพลิเคชั่น “Line”) ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามารับบริการด้วยตนเอง ณ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ

ด้านการเพิ่มกรอบอัตรากำลัง ได้ขอเพิ่มอัตรากำลังจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จำนวนจังหวัดละ ๙ คน แต่ได้รับอนุมัติจังหวัดละ ๔ คน เป็นตำแหน่งระดับชำนาญการ และได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน ๙๘ ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดจ้างบุคลากร พร้อมทั้งจัดสรรให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดต่าง ๆ อีก ๗๖ จังหวัด

ด้านการทำงาน ได้มีการทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ อาทิ ปัญหาหนี้นอกระบบ ดำเนินการทั้งด้านการป้องกันและปราบปราม โดยจัดให้มีทีมงานที่หาข่าวในพื้นที่และประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งรณรงค์ด้านอาชีพให้แก่ประชาชน เพื่อเพิ่มรายได้ให้พอเลี้ยงชีพ ไม่ต้องเป็นหนี้นอกระบบ ทั้งนี้การทำงานก็มีข้อจำกัดในส่วนของบุคลากร ทำให้ไม่อาจที่จะทำงานในเชิงรุกได้ทั้งหมด

จากการรับฟังข้อมูลดังกล่าว คณะอนุกรรมาธิการ ได้มีการอภิปรายและได้มีการตั้งข้อสังเกตและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สรุปได้ดังนี้

๑) ประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าว ในข้อ ๕ ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งการบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการและพนักงานของรัฐในเขตจังหวัด ยกเว้น อาทิ ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ พนักงานใน กกต. ข้าราชการใน ปปช. เป็นต้น การยกเว้นดังกล่าว อาจทำให้ขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการพิจารณาตรวจสอบเรื่องร้องเรียน

๒) ประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าว เป็นการกำหนดกระบวนการดำเนินงานที่มุ่งเน้นไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมากกว่า ซึ่งในข้อเท็จจริง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอก็มีบทบาทในการทำหน้าที่ด้านการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์เป็นจำนวนมาก

๓) ปัญหาหนี้นอกระบบ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ตัวต้นเหตุได้ คือ นายทุนส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจับได้เฉพาะเครือข่ายที่เป็นพนักงานเก็บหนี้ ทำให้ยังคงมีปัญหาประชาชนเดือดร้อนจากการใช้วิธีเก็บหนี้ที่รุนแรง และการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอยู่เสมอ

๔) หากมีการเปลี่ยนรัฐบาลต่อจากยุค คสช. แล้ว คำสั่งดังกล่าวจะยังมีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่ และศูนย์ดำรงธรรมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากสถานะขององค์กร และอำนาจหน้าที่อาจยังมีลักษณะที่ไม่เป็นทางการเท่าที่ควร อาจต้องพิจารณาว่าควรจะออกเป็นพระราชบัญญัติหรือไม่

๕) ตามประกาศ คสช. ดังกล่าว ได้กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการการบริหารจัดการร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอน และวางแนวทางการปฏิบัติภายในศูนย์ดำรงธรรม จากข้อกำหนดดังกล่าว อาจทำให้แต่ละจังหวัดมีวิธีการ ขั้นตอน การวางแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ อาจส่งผลให้การดำเนินงานของแต่ละจังหวัดไม่เป็นมาตรฐานหรือแบบแผนเดียวกัน ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมส่งข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ข้อเสนอแนะ แนวทางความต้องการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของศูนย์ดำรงธรรมมายังคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป

แจ้งลบกระทู้ไปยังผู้ดูแลระบบ วันที่โพส 7 กรกฎาคม 2558  เวลา 10:47:20 น.   
หน้า