ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2992 ครั้ง
ตอบ
0 ครั้ง
|
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นัดประชุมครั้งแรก โดยเรียงตามลำดับมาตรา ภายหลังที่ประชุม สนช. มีมติตั้งและมอบหมายให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวแล้วเสร็จ กำหนดเวลา ๓๐ วัน
ตามที่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๙/๒๕๕๘ เพิ่มเติม วันพฤหัสบดีที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ได้พิจารณารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
. ในวาระที่ ๑ โดยที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ จำนวน ๑๕ คน กำหนดเวลาการปฏิบัติงานจำนวน ๓๐ วัน และกำหนดการแปรญัตติ ๗ วัน โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีหลักการสำคัญ คือ กำหนดให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้โดยมีมาตรการควบคุม เพื่อให้การตรวจสอบมีมาตรฐาน และยกเลิกการแจ้งย้ายเครื่องจักรภายในบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมและแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ รวมทั้งปรับปรุงบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ
ส่วนเหตุผลที่ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่สภา เนื่องจากพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้วบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ และยกเลิกการแจ้งย้ายเครื่องจักรภายในบริเวณสถานที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรม เพื่อความสะดวกและความรวดเร็วในการบริหารจัดการด้านการผลิตในปัจจุบัน นอกจากนี้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องโดยเพิ่มบทกำหนดโทษในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดด้วยและปรับปรุงบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ต่อมา เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๘ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ดำเนินการประชุมครั้งแรก โดยมีการพิจารณาเรียงตามลำดับมาตรา ถึงมาตรา ๓ อันเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดให้เอกชนเป็นผู้ตรวจสอบเครื่องจักรที่จะจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้โดยมีมาตรการควบคุม เพื่อให้การตรวจสอบเครื่องจักรมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจากการพิจารณาดังกล่าว คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้มีมติให้ที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ อย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข ๓๐๖ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒
ที่มาภาพ : http://tis-communication.com/wp-content/uploads/2013/05/รับแปลคู่มือเครื่องจักร.jpg
|