ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2990 ครั้ง
ตอบ
0 ครั้ง
|
คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติเห็นควรแนะนำที่ประชุมสภาพิจารณารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติที่คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มอบหมายให้พิจารณา จำนวน ๕ ฉบับ พร้อมกำหนดระยะเวลาพิจารณาชั้นกรรมาธิการ ๓๐ วัน
เมื่อวันอังคารที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่อาคารรัฐสภา ๒ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีการประชุม ครั้งที่ ๒๑/๒๕๕๘ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติที่คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน ๕ ฉบับ ได้แก่
๑) ร่างพระราชบัญญัติการให้สิทธิแก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติบางกรณีและการโอนเงินจากกองทุนประกันสังคมในกรณีชราภาพไปยังกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.
.
๒) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
.
๓) ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
(ฉบับที่ ..) พ.ศ.
.
๔) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
. (การโอนคดีจากศาลชั้นต้นไปยังศาลแพ่ง การส่งคำคู่ความโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งคำคู่ความไปยังต่างประเทศ)
๕) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.
.
โดยที่ประชุมเห็นควรแนะนำที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ และเห็นสมควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในลำดับที่ ๑) ๔) และ ๕) ส่วนร่างพระราชบัญญัติในลำดับที่ ๒) และ ๓) เห็นสมควรมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ เป็นผู้พิจารณาไปในคราวเดียวกันโดยร่างพระราชบัญญัติทั้ง ๕ ฉบับ มีกำหนดระยะเวลาพิจารณาชั้นกรรมาธิการ ๓๐ วัน
นอกจากนั้น ได้มีการพิจารณาหนังสือสัญญาที่คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา ๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ คือ ความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดังกล่าว และเห็นควรกราบเรียนประธานสภาเพื่อเสนอที่ประชุมสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการพิจารณาในลักษณะเช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมาโดยเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถอภิปรายซักถามได้ สำหรับการบริหารจัดการการอภิปรายเห็นควรให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานสภา
|