ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2992 ครั้ง
ตอบ
0 ครั้ง
|
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีสำนักกฎหมาย มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณา และลงมติในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น ในการนี้ สำนักกฎหมายได้จัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๘/๒๕๕๘ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๘ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป เนื่องจากพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว บทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีการแพร่กระจายของโรคติดต่อที่รุนแรง และก่อให้เกิดโรคระบาดมากผิดปกติกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งโรคติดต่อที่อุบัติใหม่และโรคติดต่อที่อุบัติซ้ำ ประกอบกับประเทศไทยได้ให้การรับรองและดำเนินการตามข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๔๘ ในการนี้ จึงต้องพัฒนาและปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคติดต่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศ
๒. ร่างพระราชบัญญัติคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป เนื่องจากกิจการคลังสินค้า กิจการไซโล และกิจการห้องเย็น เป็นกิจการการเก็บรักษาสินค้าของผู้อื่นที่ให้สิทธิแก่ผู้ฝากที่จะสลักหลังหรือโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าโดยไม่ต้องส่งมอบสินค้าไปเป็นของผู้อื่นหรือสลักหลังจำนำสินค้าที่ฝาก ประกอบกับปัจจุบันมีคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น เพื่อเก็บรักษาสินค้าเฉพาะแก่บริษัทในเครือ รวมทั้งเพื่อเก็บรักษาสินค้าของตนเองเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากการจัดเก็บสินค้ารวมตลอดทั้งการให้เช่าเก็บสินค้าเป็นไปโดยไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อให้มีหลักประกันและสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน รวมทั้งให้การจัดเก็บสินค้าเป็นไปอย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
๓. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป โดยที่มาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล เพื่อให้ดำเนินกิจการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริการและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถานศึกษา ดังนั้น เพื่อให้สามารถระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนมาใช้ร่วมกัน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มศักยภาพทางวิชาการ สมควรรวมมหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ ที่ตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มาจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างองค์ความรู้ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดปัญญาเพื่อพัฒนาสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีดุลยภาพ และเพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียง
๔. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป โดยที่เป็นการสมควรขยายขอบเขตการให้การศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ซึ่งจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗ ให้สามารถดำเนินการได้กว้างขวางขึ้น โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และประกอบกับแนวนโยบายของรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่คล่องตัวและมีอัตลักษณ์ สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์แก่สังคมยิ่งขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา จะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ สมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว
๕. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคม ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐจะทำให้การบริหารจัดการเป็นอิสระและมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ สมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว
๖. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป โดยที่มีการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้น สมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว
๗. ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ และมีความคล่องตัว สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ดังนั้น สมควรปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว
|