ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2993 ครั้ง
ตอบ
0 ครั้ง
|
เมื่อวันที่ ๗ เม.ย. ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ เกี่ยวกับประเด็นการได้มาซึ่งปิโตรเลียม ระบบภาษี แผนงานและโครงการในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้ง ๓ คณะ ได้แก่
๑) คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔
พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่ประชุมพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับ
๑. ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงธรรมชาติอื่นที่เป็นทรัพยากรของชาติ
๒. ปิโตรเลียมมีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
๓. การบริหารจัดการปิโตรเลียมให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด โดยมีการแข่งขันที่เป็นธรรม โปร่งใส ยั่งยืน และมีธรรมาภิบาล
๔. การผูกขาด
๕. หลักประกันความมั่นคง
นอกจากนี้ ยังได้วิเคราะห์เกี่ยวกับระบบการแบ่งปันผลผลิต หรือระบบ Production Sharing Contract (PSC) ระบบการจ้างผลิต และระบบร่วมทุน ซึ่งทั้ง ๓ ระบบ กมธ. วิสามัญฯ ได้พิจารณาเจาะลึกภายใต้กรอบการพิจารณาใน ๕ ประเด็นดังกล่าว เบื้องต้นพบว่า ระบบแบ่งปันผลผลิต เป็นระบบที่รัฐสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและการทำงานได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงยังมีส่วนร่วมในควบคุมปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมาได้ตามสัดส่วนที่เป็นเจ้าของ ส่วนระบบการจ้างผลิต และระบบร่วมทุนนั้น กมธ. วิสามัญฯ จะทำการพิจารณาศึกษาในครั้งต่อไป
๒) คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔
พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ที่ประชุมพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับ
๑. ค่าภาคหลวง
๒. ผลประโยชน์ตอบแทน
๓. ภาษีเงินได้และภาษีซ่อน
๔. เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้
ทั้ง ๔ ประเด็นนี้ ได้นำมาเป็นกรอบแนวทางในการพิจารณาภาษีเงินได้และผลประโยชน์ ตอบแทนทั้งระบบ โดยจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศ ภาพลักษณ์ของการลงทุน และคำนึงถึงประเทศชาติต้องได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทาน ระบบการแบ่งปันผลผลิต ระบบการจ้างผลิต และระบบการร่วมลงทุน ซึ่ง ๓ ระบบหลัง กมธ. วิสามัญฯ ได้ศึกษาตัวอย่างเพิ่มเติมจากต่างประเทศ ส่วนรายละเอียดของการพิจารณา พ.ร.บ. เบื้องต้นเห็นควรปรับปรุงและแก้ไข รวม ๑๕ ประเด็น
๓) คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแผนงานและโครงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ในส่วนของแผนงานและโครงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้จัดกิจกรรมการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่จริงใน ๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลาและขอนแก่น และจะจัดงานเสวนาอีกครั้งประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘
ทั้งนี้ กมธ. วิสามัญฯ จะเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น วิพากษ์ข้อสรุป รวมถึงการทำงานของ กมธ. วิสามัญฯ ก่อนที่จะจัดทำสรุปรายงานเพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป
|