ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2993 ครั้ง
ตอบ
0 ครั้ง
|
ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เห็นชอบให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยมีการบัญญัติมาตรา ๑๒๓/๒ ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต นั้น
แม้ว่าแต่เดิมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ (กฎหมาย ป.ป.ช.) จะไม่เคยบัญญัติโทษประหารชีวิตไว้ แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘ มีที่มาจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. ๒๐๐๓ (United Nations Convention against Corruption : UNCAC) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยการกำหนดฐาน
ความผิดการให้หรือรับสินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ รวมถึงความผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลจะส่งผลให้กรอบ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อการปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยมีความเป็นมาตรฐานสากลและสมบูรณ์มากขึ้น และก่อให้เกิดประโยชน์ในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินคดีทุจริต ในกรณีที่การขอความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่ภายใต้บังคับของหลักความผิดอาญาในทั้งสองรัฐ (หลัก Dual Criminality) อาศัยอำนาจตามอนุสัญญาข้อ ๑๖ ที่บัญญัติเกี่ยวกับการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การภาครัฐระหว่างประเทศ และข้อ ๒๖ ที่บัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของนิติบุคคลเนื่องจากการทุจริตถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง มีรูปแบบที่สลับซับซ้อน และมีลักษณะของอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงกรณีการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากต่อรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของผู้รับและผู้ให้ ประกอบกับอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ค.ศ. ๑๙๙๗ ว่าด้วยการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ (OECD Convention) ซึ่งถือเป็นอนุสัญญาด้านการต่อต้านการทุจริตที่สำคัญและ เป็นมาตรฐานสากล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของกรณีดังกล่าวข้างต้นเช่นเดียวกัน จึงได้มีบทบัญญัติที่สนับสนุนให้รัฐภาคีกำหนดฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการให้หรือรับสินบนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ เพื่อให้ทุกรัฐมีมาตรฐานกฎหมายในระดับสากลเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการรับผิดตามอนุสัญญาที่อยู่ภายใต้มาตรการลงโทษทางอาญาและไม่ใช่อาญา รวมทั้งมาตรการลงโทษทางการเงินที่มีประสิทธิผลได้สัดส่วน และมีผลในการยับยั้งการกระทำความผิด จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ที่รับสินบนเป็นความผิดเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต โดยมีการกำหนดโทษปรับให้สูงกว่าประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับค่าเงินและ ความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุปคือ โทษประหารชีวิตจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพียงแต่ประเทศไทย มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้แล้วตามประมวลกฎหมายอาญา สำหรับการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศที่รับสินบน ทั้งนี้ ติดตามผลของการกระทำความผิดกฎหมาย ป.ป.ช. สู่โทษประหารชีวิตตามกระบวน วิธีพิจารณาได้ในโอกาสต่อไป
|