เข้าสู่ระบบเพื่อติดตามแลกเปลี่ยนข่าวสาร พบปะพูดคุยสื่อสารเฉพาะกลุ่มสมาชิกเท่านั้น
Username:
Password:
 

กระดานสนทนา

ย้อนกลับไปหน้ากระดานสนทนา
ชื่อกระทู้ วิป สนช. เสนอสภา พิจารณาภาคผนวก “ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ๕ ฉบับ
ชื่อผู้โพส admin5
อ่าน 2991 ครั้ง
ตอบ 0 ครั้ง
วิป สนช. เสนอสภา พิจารณาภาคผนวก “ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ๕ ฉบับ

ที่ประชุม วิป สนช. ให้เสนอที่ประชุมสภาพิจารณาภาคผนวกแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross – Border Transport Agreement : CBTA) จำนวน ๕ ฉบับ พร้อมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ รายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ และข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปตามมาตรา ๓๑ ของรัฐธรรมนูญฯ จำนวน ๓ เรื่อง

เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๘ ณ อาคารรัฐสภา ๒ ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ โดยมีศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัยประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๓/๒๕๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ ครั้งที่ ๔/๒๕๕๘ วันศุกร์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๘ และพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเรื่องด่วนและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติมอบหมายให้พิจารณา จำนวน ๑ เรื่อง ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมติที่ประชุมเห็นควรแนะนำที่ประชุมสภารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา จำนวน ๑๕ คน กำหนดระยะเวลาพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ๓๐ วัน และกำหนดแปรญัตติภายใน ๗ วัน

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาภาคผนวกแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross – Border Transport Agreement : CBTA) จำนวน ๕ ฉบับ ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ประกอบด้วย ฉบับที่ ๑ ภาคผนวก ๔ การอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งข้ามแดน ฉบับที่ ๒ ภาคผนวก ๕ การข้ามแดนของบุคคล ฉบับที่ ๓ ภาคผนวก ๖ กฎเกณฑ์ในการผ่านพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าผ่านแดนและสินค้าผ่านแดนในประเทศ ฉบับที่ ๔ ภาคผนวก ๘ การนำเข้ารถยนต์ชั่วคราว และฉบับที่ ๕ ภาคผนวก ๑๔ กฎเกณฑ์ศุลกากรสำหรับคอนเทนเนอร์ ซึ่ง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบด้วยกับภาคผนวกแนบท้ายทั้ง ๕ ฉบับดังกล่าว และเห็นควรเสนอที่ประชุมสภาให้ความเห็นชอบและดำเนินการพิจารณาในลักษณะเดียวกับที่เคยปฏิบัติ โดยการเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถอภิปรายซักถามได้ สำหรับการบริหารจัดการอภิปรายเห็นควรให้อยู่ในดุลพินิจของประธานสภา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณารายงาน จำนวน ๒ เรื่อง ได้แก่ รายงานผลการพิจารณารายงานการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณโครงการมหกรรมสินค้าเบอร์ ๕ เยียวยาผู้ประสบอุทกภัยด้วยการมอบคูปองส่วนลดซื้อสินค้าประหยัดพลังงานมูลค่า ๒,๐๐๐ บาท ซึ่งคณะกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมติที่ประชุมเห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการ และเห็นควรเสนอเรื่องให้ที่ประชุมสภาทราบและพิจารณาต่อไป และพิจารณารายงานเรื่องหลักประกันความมั่นคงด้านรายได้เพื่อการยังชีพของผู้สูงอายุ : การเร่งรัดการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๔ ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ ตามมาตรา ๓๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งที่ประชุมรับทราบและเห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง และคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส เป็นผู้พิจารณาและดำเนินการตามภารกิจหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง โดยในลำดับแรกขอให้ร่วมกันกำหนดประเด็นพิจารณาของแต่ละคณะด้วย


แจ้งลบกระทู้ไปยังผู้ดูแลระบบ วันที่โพส 20 มกราคม 2558  เวลา 09:53:26 น.   
หน้า