ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2991 ครั้ง
ตอบ
566 ครั้ง
|
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยสำนักกฎหมาย มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ใช้เป็นข้อมูลสำคัญ
สำหรับประกอบการพิจารณาและลงมติในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น ในการนี้ สำนักกฎหมายได้จัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๓ /๒๕๕๘ เพิ่มเติม เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๕ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุปเนื่องจากพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ. ๒๕๔๓ มีบทบัญญัติที่ยังไม่ครอบคลุมการบริหารทุนหมุนเวียนทั้งกระบวนการ ประกอบกับปัจจุบันได้มีการจัดตั้งทุนหมุนเวียนขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายบริหารกิจการของหน่วยงานของรัฐให้เกิดความคล่องตัวทางการเงิน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน แต่การบริหารทุนหมุนเวียนยังขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง ดังนั้นควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำกับและบริหารทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพและบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
๒. ร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป เนื่องจากสภาพการจ้างงาน การทำงานบนเรือเดินทะเลมีลักษณะและสภาพของงาน ซึ่งมีความแตกต่างจากการทำงานของลูกจ้างทั่วไปที่ต้องทำงานบนเรือเดินทะเลที่มีความเสี่ยงภัยทางทะเลและมีระยะเวลาการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน ประกอบกับความสัมพันธ์ของคนทำงานบนเรือกับเจ้าของเรือบางส่วนมิได้มีความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน และกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไม่อาจให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างและคนประจำเรือให้ได้รับความเป็นธรรมและมีมาตรฐานและสภาพการจ้าง การทำงาน และความปลอดภัยและสุขอนามัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีกฎหมาย ว่าด้วยแรงงานทางทะเลขึ้นโดยเฉพาะ
๓. ร่างพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
.
คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับคณะ เป็นผู้เสนอ
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป โดยที่บทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายเพียงพอที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมืองได้ และไม่สามารถใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมได้อย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการวางและจัดทำผังเมืองรวมมีขั้นตอนและรายละเอียดมาก ทำให้ไม่อาจดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมได้ทันกำหนดเวลาที่ผังเมืองรวมเดิมสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการผังเมืองในระหว่างที่ยังไม่มีผังเมืองรวมฉบับใหม่ใช้บังคับ
ประกอบกับในปัจจุบันได้มีการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภารกิจในการผังเมืองด้วย จึงสมควรกำหนดกลไกทางกฎหมายที่สามารถผลักดันให้การวางและจัดทำผังเมืองรวมบรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการผังเมืองให้เหมาะสม
๔. ร่างพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
. คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป โดยที่บทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายเพียงพอที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมืองได้ และไม่สามารถใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมได้อย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการวางและจัดทำผังเมืองรวมมีขั้นตอนและรายละเอียดมาก ทำให้ไม่อาจดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมได้ทันกำหนดเวลาที่ผังเมืองรวมเดิมสิ้นสุดลง เป็นเหตุให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการผังเมืองในระหว่างที่ยังไม่มีผังเมืองรวมฉบับใหม่ใช้บังคับ
ประกอบกับในปัจจุบันได้มีการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีภารกิจในการผังเมืองด้วย จึงสมควรกำหนดกลไกทางกฎหมายที่สามารถผลักดันให้การวางและจัดทำผังเมืองรวมบรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการผังเมืองให้เหมาะสม
๕. ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุปโดยที่กระบวนการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อศาล เพื่อมีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้ ทำให้กระบวนการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้มีหลายขั้นตอน สมควรลดขั้นตอน โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาคำขอรับชำระหนี้มีความรวดเร็วขึ้น
|