ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2998 ครั้ง
ตอบ
0 ครั้ง
|
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีสำนักกฎหมาย มีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับประกอบการพิจารณา และลงมติในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ นั้น ในการนี้ สำนักกฎหมายได้จัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑ /๒๕๕๘ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ จำนวน ๓ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
.
สรุปเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ด้วยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. ๒๐๐๓ (United Nations Convention Against Corruption : UNCAC) เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔ อันก่อให้เกิดหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายในของประเทศไทยเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเป็นผู้ถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเรื่องความพยายามและความจริงจังในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาสหประชาชาติดังกล่าว
๒. ร่างพระราชบัญญัติยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ.
.
สรุปเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ โดยที่กฎหมายหลายฉบับตราขึ้นเพื่อใช้บังคับเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามและการฟื้นฟูประเทศหลังภาวะสงคราม ขณะที่กฎหมายหลายฉบับหมดความจำเป็นและไม่มีการใช้บังคับในสภาวการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายอื่นที่ตราขึ้นใช้บังคับในภายหลังมีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมากกว่า สมควรยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือที่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นเหล่านี้
๓. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
.
สรุปเหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ โดยที่กฎหมายกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการครอบครองสื่อลามกอนาจารเป็นความผิดเฉพาะการมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า เพื่อการแจกจ่าย หรือเพื่อการแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออกหรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พาไปหรือยังให้พาไป หรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆ ประกอบการค้า หรือมีส่วนหรือเข้าเกี่ยวข้องในการค้า โดยไม่ได้แยกประเภทของสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่กับสื่อลามกอนาจารเด็ก ทั้งนี้ การครอบครองสื่อลามกอนาจารผู้ใหญ่ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถจะกระทำได้ แต่สื่อลามกเด็กเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบกับการผลิตสื่อลามกอนาจารเด็กเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างชัดแจ้ง การมีไว้ในครอบครองจึงมีลักษณะแตกต่างจากการครอบครองสื่อลามกผู้ใหญ่
|