ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2991 ครั้ง
ตอบ
0 ครั้ง
|
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีสำนักกฎหมายมีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาและ ลงมติในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัตินั้น ในการนี้ สำนักกฎหมายได้จัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ตามระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๔/๒๕๕๘ ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป เนื่องจากธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัย มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม และในปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบธุรกิจการให้บริการรักษาความปลอดภัยเป็นจำนวนมาก แต่มาตรฐานในการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกัน จึงสมควรกำหนดมาตรฐานของธุรกิจรักษาความปลอดภัยและมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัย
๒. ร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
.
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตและการอนุญาตการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตและการอนุญาตตามกฎหมายเสียใหม่ รวมทั้งอำนาจในการกำหนด แก้ไข และยกเลิกมาตรฐาน การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติ และขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติได้
๓. ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
. (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)
เหตุผลในการเสนอร่างพระราชบัญญัติโดยสรุป โดยที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ฐานความรู้ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจต่างมีความต้องการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพของการให้บริการ แต่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีขอบเขตอำนาจหน้าที่จำกัดเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่เน้นให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทในทุกภาคส่วน ดังนั้น เพื่อให้มีกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมถึงเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่มากขึ้นและเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
|