ชื่อผู้โพส
admin5
อ่าน
2988 ครั้ง
ตอบ
566 ครั้ง
|
วิป สนช. เสนอที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดพิจารณาโดยกรรมาธิการเต็มสภา พิจารณาให้แล้วเสร็จ ๓ วาระ ภายในวันเดียว โดยจะลงมติรับหลักการในวาระที่ ๑ ด้วยวิธีการขานชื่อ ต่อด้วยพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ในวาระ ๒ ก่อนลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในวาระที่ ๓ ด้วยวิธีการขานชื่อเช่นกัน
เมื่อวันอังคารที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่อาคารรัฐสภา ๒ ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๒/๒๕๕๘ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ เป็นประธานในการประชุม โดยมีวาระการพิจารณาเรื่องด่วนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช
. ซึ่งคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ และเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรแนะนำที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนี้
๑. ให้อยู่ในดุลพินิจสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ
๒. การพิจารณาจะกระทำโดยกรรมาธิการเต็มสภา
๓. การออกเสียงลงคะแนนจะดำเนินการโดย
- วาระที่ ๑ ใช้วิธีขานชื่อ
- วาระที่ ๒ เรียงลำดับมาตรา ใช้เสียงข้างมากเป็นประมาณ
- วาระที่ ๓ ใช้วิธีขานชื่อ
ทั้งนี้ การลงมติให้ความเห็นชอบจะต้องมีคะแนนเสียงตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ บัญญัติ ประกอบข้อบังคับการประชุมฯ ข้อ ๑๗๖ ด้วย และกำหนดพิจารณาให้แล้วเสร็จในวันเดียวกัน คือ วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘
จากนั้น ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ.
. ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมเห็นควรแนะนำที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว และเห็นสมควรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา จำนวน ๑๕ คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน และคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และผู้แทนคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลาพิจารณาชั้นกรรมาธิการ ๓๐ วัน และกำหนดแปรญัตติ ๗ วัน
|